วันพฤหัสบดีที่ 3 มีนาคม พ.ศ. 2554

เอนไซม์

เอนไซม์
เป็นสารกลุ่มโปรตีน  ร่างกายได้รับจากการกินอาหาร และการสร้างเองในร่างกาย 
หน้าที่
ใช้ในการย่อยสลายอาหารให้เล็กลง  พอจะผ่านเซลล์ผนังลำไส้  ทำให้ร่างกายได้รับสารอาหารอย่างมีคุณภาพ  ช่วยรักษาระบบเผาผลาญพลังงานในร่างกายให้มีประสิทธิภาพ เช่นการสลายไขมัน  การลำเลียงอาหารเข้าสู่เซลล์  ส่งพลังงานไปตามเซลล์ต่าง ๆ  การกำจัดพิษออกจากร่างกาย

*กล้วยหอม อุดมไปด้วยเส้นใย จึงช่วยในการย่อยอาหารของลำไส้เล็กได้ดี  และยังมีสารต่าง ๆ ที่ช่วยเคลือบผิวของกระเพาะ ลดการเป็นแผลในกระเพาะ

แอ๊บเปิ้ลลลล

สีแอ๊บเปิ้ล
 - สีแดง รสหวาน กรอบ  สีชมพู หวาน ไม่ค่อยกรอบ  สีเขียว  หวานอมเปรี้วย  กรอบ  สีเหลือง หอม หวาน นุ่ม ละมุน
 - สารอาหาร
 สารแอนติออกซิเดนท์  ที่ช่วยต้านอนุมูลอิสระ  ชะลอความแก่  ความเครียด ป้องกันโรคต่าง ๆ  ทั้งโรคมะเร็ง  โรคหัวใจ  ความดัน  โรคเบาหวาน  การรับประทานแอ๊บเปิ้ลจะช่วยลดปริมาณน้ำตาลในเลือด  ยับยั้งการเปลี่ยนคาร์โบไฮเดรต และมีไฟเบอร์ที่ช่วยในด้านระบบขับถ่าย  แอ๊บเปิ้ลเขียว จะมีน้ำตาลน้อย มีวิตามิน ซีมาก ป้องกันไข้หวัด  เลือดออกตามไรฟัน   แอ๊บเปิ้ลทุกสีจะมีสารฟลาโวนอยด์  คือสารทุติยภูมิที่มีอยู่ในพืชทุกชนิด  มีคุณสมบัติแอนติไวรัส  แบคทีเรีย  เสริมสร้างภูมิคุ้มกันในร่างกายที่เกิดจากแบคทีเรีย ไวรัส  ป้องกันการอักเสบ  จึงช่วยในเรื่องของโรคลำไส้อักเสบ  และแผลอักเสบต่าง ๆ ในร่างกาย
- การรับประทาน
ควรล้างให้สะอาด เพื่อกันสารตกค้าง

วันอังคารที่ 4 มกราคม พ.ศ. 2554

Indian Culture


ความแตกต่างทางด้านความคิดนี้นำมาสู่องค์ประกอบที่สำคัญอีกประการหนึ่งใน แบบจำลองนั่นคือ เป็นหน้าที่ของการสื่อสารที่จะหลบหนีให้พ้นจากกรอบความคิดซึ่งถูกสร้างขึ้นมาโดยตรรกะและภาษา เพราะตราบเท่าที่เราอยู่ภายใต้กรอบซึ่งถูกสร้างขึ้นโดยภาษา เราก็จะไม่สามารถมองเห็นความเป็นจริงได้ การละทิ้งผลิตกรรมต่างๆที่ถูกจัดวางโดยภาษานั้นจะทำให้มนุษย์เราเป็นอิสระและตระหนักรู้ความจริงได้
ตามทัศนะของชาวอินเดียนั้น การตระหนักรู้ในความจริงไม่ได้เกิดจากภาษา หรือตรรกะ หรือแม้กระทั่งความมีเหตุมีผล แต่เกิดจากการหยั่งรู้ภายใน (to know is to be) การรู้คือการได้ตระหนักถึงผลิตกรรมต่างๆซึ่งถูกครอบงำโดยภาษาและโดยตรรกะ และมีเพียงกระบวนการหยั่งรู้ ภายในเท่านั้น ที่จะทำให้มนุษย์สามารถยกระดับตัวเองออกจากภาพมายาในโลกได้ ซึ่งในมุมมองของอินเดียแล้ว นี่แหละคือจุดมุ่งหมายของการสื่อสาร
การแบ่งยุคสมัยของศาสนาพราหมณ์-ฮินดู
แบ่งตามวิวัฒนาการตามลำดับเหตุการณ์ ได้ดังนี้คือ
(1) สมัยอริยกะ ระยะเวลาประมาณ 950 ปีก่อนพุทธกาล
(2)
สมัยพระเวท ระยะเวลาประมาณ 957-475 ปีก่อนพุทธกาล
(3)
สมัยพราหมณ์ ระยะเวลาประมาณ 257 ปีก่อนพุทธกาล-พ.ศ. 43
(4)
สมัยฮินดูเก่า (ฮินดูแท้) และอุปนิษัท ประมาณ 57 ปีก่อนพุทธกาล-ต้นพุทธกาล
(5)
สมัยสูตร ระยะเวลาประมาณ พ.ศ.60-พ.ศ.360
(6)
สมัยอวตาร ระยะเวลาประมาณ พ.ศ.220-พ.ศ.660
(7)
สมัยเสื่อม ระยะเวลาประมาณ พ.ศ.861-พ.ศ.1190
(8)
สมัยฟื้นฟู ระยะเวลาประมาณ พ.ศ.1200-พ.ศ.1740
(9)
สมัยภักติ ระยะเวลาประมาณ พ.ศ.1740-พ.ศ.2300
คำว่า "ฮินดู" แปลว่า "ธรรมที่สอนลัทธิอหิงสา" ตรงกับคำว่า "หินทู" ที่มีความหมายว่า "ผู้ละเว้นหิงสากรรม" หรือมีความหมายอีก 2 นัยคือ
(1) เป็นคำที่ชาวอารยันที่อพยพเข้าไปอยู่ในดินแดนที่เรียกว่าเปอร์เซียสมัยโบราณ เรียกพวกอารยันที่อพยพเข้าไปตั้งถิ่นฐานอยู่ในบริเวณ ลุ่มแม่น้ำสินธุของอินเดีย
(2)
เป็นคำที่ใช้เรียกลูกผสมระหว่างชาวอารยันกับพวกพื้นเมืองเดิมของชมพูทวีป
สมัยอริยกะ
เป็นสมัยที่พวกอารยัน (อริยกะ) เริ่มอพยพเข้าสู่อินเดียทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือ (ตอนเหนือของลุ่มแม่น้ำสินธุ) เข้าปะปนกับคนพื้นเมืองเจ้าของถิ่นเดิมของอินเดีย คือพวกมิลักขะหรือทราวิท
ทั้งพวกอริยกะและพวกมิลักขะต่างมีศาสนาเดิมของตนอยู่ก่อนแล้ว กล่าวคือ พวกมิลักขะนับถือธรรมชาติ คือ ดิน น้ำ ลม ไฟ เชื่อว่าธรรมชาติทั้ง 4 เป็นเทพเจ้า ประทับอยู่บนสวรรค์บน ภูเขาพระสุเมรุ มีพิธีบวงสรวงเทพเจ้าด้วยไฟ เพราะเชื่อว่าควันไฟที่ลอยขึ้นสู่เบื้องบนนั้น เป็นสื่อนำความประสงค์ของผู้สังเวยไปให้เทพเจ้าทราบ
ศาสนาเดิมที่พวกอริยกะนับถืออยู่ก่อนอพยพเข้าอินเดีย ได้แก่การนับถือธรรมชาติและวิญญาณบรรพบุรุษ ธรรมชาติที่พวกอริยกะนับถือว่าเป็นเทพเจ้า ได้แก่ เทพผู้บันดาลสิ่งทั้งหลายทั้งปวงให้เกิดขึ้นในโลก คือ "อินทร์" เทพผู้ให้ความร้อนและแสงสว่าง คือ "สาวิตรี" เทพผู้ให้ ความเย็นความชุ่มชื้น คือ "วรุณ" และเทพผู้ทำลายชีวิตมนุษย์และสัตว์ คือ "ยม" หรือ "มฤตยู"
ต่อมาพวกอริยกะทำสงครามชนะพวกพื้นเมืองและขณะมีอำนาจในการปกครอง ได้ปรับเทพเจ้าที่ตนนับถือเข้ากับเทพเจ้าของพวกมิลักขะ โดยสร้างเทพเจ้าอัคนีขึ้นมาใหม่แต่ให้อยู่ในฐานะบริวารของสาวิตรี เพื่อให้พวกพื้นเมืองเดิมสำนึกตนอยู่เสมอว่า อยู่ภายใต้อำนาจการปกครองของพวกอริยกะ
สมัยพระเวท
ในสมัยนี้พวกอริยกะได้สร้างเทพเจ้าขึ้นใหม่อีกหลายองค์ แบ่งออกเป็น 3 กลุ่มด้วยกัน คือ เทพเจ้าแห่งสวรรค์ เทพเจ้าแห่งท้องฟ้า และเทพเจ้าแห่งพื้นพิภพ และพิธีบูชาเทพเจ้าก็เปลี่ยนไปจาก "พลี" เป็น "บูชายัญ" ด้วยชีวิตสัตว์ มีการถวายเครื่องดื่มเรียกว่า "น้ำโสม" พร้อมนมเนยและมีบทสวดขับสำหรับพิธีบูชาเพิ่มขึ้นอีกด้วย
ต่อมาสังคมของพวกอารยันเริ่มมั่นคงและขยายตัวกว้างขวางใหญ่ขึ้น มีการแบ่งชนชั้นเป็น 3 สถานภาพ คือ นักบวช นักรบ และเกษตรกร ในชนชั้นทั้ง 3 สถานภาพนี้ นักบวชได้รับความเคารพนับถือมากที่สุด เพราะเป็นผู้มีหน้าที่ประกอบพิธีกรรมทางศาสนา นักบวชนี้แบ่งออกเป็น 3 พวกทำหน้าที่ที่แตกต่างกัน คือ
พวกที่หนึ่งทำหน้าที่บูชาเทพเจ้า
พวกที่สองทำหน้าที่ สวดขับกล่อม และ
พวกที่สามทำหน้าที่จัดพิธีกรรมตามลัทธิ
นอกจากนี้ยังมีพราหมณ์อีกพวกหนึ่งเรียกว่า "พรหมา" เป็นผู้เชี่ยวชาญในการประกอบพิธีกรรม ทำหน้าที่ควบคุมการบูชายัญให้ถูกต้องตามคัมภีร์พระเวทอีกด้วย
ยุคนี้ได้ชื่อว่า "สมัยพระเวท" เพราะปลายยุคนี้พวกพราหมณ์ได้ประมวลบทสวดขับต่างๆขึ้นเป็นหมวดหมู่ ทำให้เกิดตำรา(คัมภีร์)ทางศาสนาฉบับแรกขึ้น คัมภีร์ดังกล่าวมีชื่อเรียกว่า "ฤคเวท" ประกอบด้วยคำฉันท์ สำหรับอ้อนวอนและสรรเสริญพระเจ้า คำสวดขับกล่อม สำหรับพิธีถวายน้ำโสม และโศลกผสมร้อยแก้ว อธิบายวิธีประกอบพิธีกรรมบวงสรวงพระเจ้า คัมภีร์ฤคเวทนี้พราหมณ์อธิบายว่า ได้มาจากเสียงทิพย์(ศรุติ) จากโอษฐ์ของเทพเจ้าองค์ใหม่ที่พวกพราหมณ์สร้างขึ้นและให้ชื่อว่า "พรหม" พระพรหมที่พราหมณ์กำหนดขึ้นใหม่นี้ พราหมณ์อธิบายว่าทรงเป็นเทพเจ้าผู้สร้างโลก สร้างมนุษย์และเป็นบรรพบุรุษของพราหมณ์
สมัยพราหมณ์
เป็นสมัยที่พวกอารยันแผ่อำนาจครอบครองอินเดียภาคเหนือได้ทั้งหมด กำเนิดแคว้นต่างๆแต่ละแคว้น มีพระราชาปกครองเป็นอิสระไม่ขึ้นแก่กัน ส่วนพวกคนพื้นเมืองเดิมที่ต้องตกอยู่ในอำนาจปกครองของพวกอารยันนั้นถูกเรียกว่า "ทัสยุ" ซึ่งเป็นต้นกำเนิดของคำว่า "ทาส" ในเวลาต่อมา
พวกอารยันสมัยนี้เชื่อในเรื่องความศักดิ์สิทธิ์ของพระเจ้าและการทำพลีบูชาเทพเจ้าว่า
1. ถ้าประกอบพิธีกรรมอย่างถูกต้องจนเป็นที่พอพระทัยของเทพเจ้าแล้ว เทพเจ้าจะเมตตาประทานพรให้สมปรารถนาที่ขอ
2.
ผู้ประกอบพิธีกรรมด้วยความมานะพากเพียรยิ่งจนถึงที่สุด อาจเปลี่ยนสถานภาพจากมนุษย์ธรรมดาเป็นเทพเจ้าได้

ความเชื่อประการแรก ทำให้นักบวชพราหมณ์กลายเป็นผู้มีอำนาจสูงสุดในจิตใจประชาชน สมัยนี้จึงได้ชื่อว่าเป็นสมัยพราหมณ์ เพราะเป็นสมัยที่พราหมณ์ได้รับความยกย่องอยู่ในฐานะ สูงสุดยิ่งกว่าพระราชา

ความเชื่อประการที่สอง ทำให้เกิดค่านิยมว่าผู้ประพฤติพรหมจรรย์ย่อมมีโอกาสยกฐานะของตนเทียบเท่าพระราชาหรือยิ่งกว่าได้ เป็นเหตุให้มีผู้สละทรัพย์สมบัติและครัวเรือนออกบวช ทำให้เกิดเจ้าลัทธิใหม่เพิ่มขึ้น
งานสำคัญที่พราหมณาจารย์สมัยนี้สร้างขึ้น ได้แก่
1. กำหนดพิธีกรรมต่างๆทางศาสนาทั้งของพระราชาและประชาชนที่มีระเบียบแบบแผน อันยุ่งยากและซับซ้อนมากยิ่งขึ้น เช่น พิธีราชสยะ (ราชาภิเษก) พิธีอัศวเมธ (ปล่อยม้าอุปการ) และพิธีบุรุษเมธ (บูชายัญมนุษย์) เป็นต้น
2. ปรับปรุงเรื่องราวเกี่ยวกับเทพเจ้าใหม่ คือ กำหนดให้พระพรหมเป็นเทพเจ้าสูงสุด และอธิบายสภาวะของเทวดาว่า เดิมต้องตายเช่นเดียวกับพวกมนุษย์ แต่ภายหลังพวกเทวดาได้กระทำพิธีบำเพ็ญตบะและพิธีพลีบูชาพระพรหม พระพรหมจึงประทานความเป็นอมตะ (อมร) ให้
3. สร้างเทพเจ้าขึ้นใหม่อีก 2 องค์ คือ พระศิวะ (เทพแห่งภูเขา) และพระวิษณุ (เทพแห่งทะเลและมหาสมุทร)
4. สร้างคัมภีร์ใหม่ 2 คัมภีร์ คือ คัมภีร์อรัณยกะ เป็นคู่มือสำหรับผู้สละบ้านเรือนออกบวชเป็นฤาษี และคัมภีร์อาถรรพเวท ประกอบด้วยคาถาอาคมต่างๆสำหรับเสกเป่าเพื่อทำลาย สิ่งอัปมงคล สร้างสวัสดิมงคล และนำความชั่วร้ายไปสู่ศัตรู คัมภีร์นี้สร้างขึ้นเพื่อปลูกฝัง ความเลื่อมใสในศาสนาพราหมณ์ให้ลึกซึ้งยิ่งขึ้น เพราะปลายยุคนี้ศาสนาพราหมณ์ต้องเผชิญหน้ากับพุทธศาสนา ซึ่งเป็นคู่แข่งสำคัญ
5. เกิดโรงเรียนสำหรับนักบวชพราหมณ์นิกายต่างๆ ผลของการศึกษาที่ขยายตัวออกไปในสมัยนี้ ทำให้เกิดลัทธิพราหมณ์นิกายต่างๆเพิ่มขึ้นอีกมากมาย และแต่ละนิกายต่างก็แข่งขันกันสร้างคัมภีร์ของตนเองขึ้นโดยเฉพาะ
6. การแบ่งชั้นวรรณะของบุคคลในสังคมออกเป็น 4 วรรณะใหญ่ คือ กษัตริย์ พราหมณ์ แพศย์ และศูตร วรรณะสุดท้ายนี้ได้แก่พวกมิลักขะซึ่งเป็นคนพื้นเมืองดั้งเดิมทั้งหมด พราหมณ์อธิบายไว้ในคัมภีร์พระเวทว่า พระพรหมผู้ทรงสร้างมนุษย์เป็นผู้กำหนดขึ้นเพื่อสันติในการอยู่ร่วมกันของมนุษย์ ทรงสร้างบุคคลวรรณะพราหมณ์ (นักบวช) จากพระโอษฐ์ สร้างวรรณะกษัตริย์จากพระพาหา สร้างวรรณะแพศย์ (พ่อค้า) จากพระโสณี (ตะโพก) และสร้างวรรณะศูตร (กรรมกร) จากพระบาท
สมัยฮินดูเก่า 5
สมัยนี้เป็นสมัยแรกที่กำเนิดปรัชญา ซึ่งถือได้ว่าเป็นแก่นแท้ของศาสนาพราหมณ์ ซึ่ง พราหมณาจารย์ทั้งหลายเป็นผู้คิดขึ้น และในช่วงระยะเวลาดังกล่าวนี้เองที่ลัทธิศาสนาซึ่งมีชื่อเดิมว่าศาสนาพราหมณ์ได้กลายมาเป็นศาสนาฮินดู ความเปลี่ยนแปลงที่สำคัญที่เกิดจากผลงานของบรรดาพราหมณาจารย์สมัยนี้มีดังนี้
1. มีการกำหนดความสำคัญของเทพเจ้าต่างๆกันใหม่ตามความนิยมของสังคม
2. พราหมณาจารย์ทั้งหลายร่วมมือกันปรับปรุงลัทธิศาสนาของตนให้ได้รับความนิยมจากประชาชน และช่วยกันเผยแผ่ออกไปอย่างกว้างขวาง
3. สถานศึกษาของนักบวชพราหมณ์ได้รับการพัฒนาให้เจริญมากขึ้น ศูนย์กลางสำคัญอยู่ที่ตักศิลา ซึ่งเป็นที่ชุมนุมของบรรดาคณาจารย์ทั้งหลายที่เรียกว่า "ทิศาปาฏิโมกข์"
4. มีการปรับปรุงปรัชญาและแนวคิด คือ
4.1 มีการเพิ่มเติมคำอธิบายเกี่ยวกับลักษณะของพรหมให้ชัดเจนยิ่งขึ้น คืออธิบายว่า พระเจ้าที่แท้จริงมีแต่พรหมองค์เดียวเท่านั้น พรหมเป็นสิ่งที่มีอยู่ เป็นสิ่งเที่ยงแท้ แต่ไม่อาจมองเห็นได้ด้วยตา
4.2 มนุษย์ต้องเวียนว่ายตายเกิดในสภาพต่างๆกันเพราะกรรมเก่า (ซึ่งหมายถึงการกระทำทั้งดีและชั่ว) พรหมเป็นศูนย์รวมและเป็นต้นกำเนิดแห่งวิญญาณทั้งปวง สิ่งมีชีวิต ทั้งหลายล้วนถือกำเนิดมาจากพรหม จึงมีวิญญาณซึ่งแบ่งแยกมาจากพรหมสิงสถิตอยู่ วิญญาณทุกดวงที่แยกออกมาจากพรหม อาจเข้าสิงสถิตในร่างของเทวดา มนุษย์ สัตว์ หรือพืชก็ได้ ทุกครั้งที่ร่างเดิมแตกดับจากสภาพใดสภาพหนึ่งไปอุบัติในร่างใหม่ เรียกว่า "ภพหรือชาติหนึ่ง" ตราบใดที่ยังต้องเวียนว่ายตายเกิดไม่ว่าจะเกิดเป็นอะไรก็ตาม คงต้องผจญกับความทุกข์เรื่อยไป เมื่อไรวิญญาณหลุดพ้นจากภาวะเวียนว่ายตายเกิด (เรียกว่าโมกษะ) วิญญาณดวงนั้นจะกลับไปรวมกับพรหมเช่นเดิม
4.3 ผู้ใดยุติการกระทำกรรมทั้งกรรมดีและกรรมชั่ว ผู้นั้นย่อมหลุดพ้นจากการเกิด
4.4 โลกที่พรหมสร้างมีกำหนดอายุขัย เมื่อครบกำหนดอายุขัยจะมีการล้างโลกแล้วสร้างโลกขึ้นใหม่ ระยะเวลานับแต่สร้างโลกจนถึงล้างโลก เรียกว่า "กัลป์" หนึ่ง 1 กัลป์แบ่งเป็น 4 ยุค คือ กฤตยุค เตรตายุค ทวาปรยุค และกลียุค ยุคทั้ง 4 รวมกันเรียกว่า "มหายุค" แต่ละยุคเวลาจะสั้นลงตามลำดับ พร้อมกันนั้นความดีงามของโลกก็ลดลงตามลำดับเช่นกัน
5. กำหนดการศึกษาภาคบังคับ ก่อนเริ่มการศึกษานักบวชพราหมณ์จะทำพิธีเสกเป่ามนตร์และคล้องเส้นด้ายมงคลอันศักดิ์สิทธิ์ เรียกว่า "สายธุรำ" เฉวียงบ่า พิธีนี้เรียกว่า "ยัชโญปวีต" ผู้ผ่านการทำพิธีดังกล่าวแล้วถือว่าเป็นผู้เกิดใหม่อีกครั้ง เรียกว่า "ทวิช"
สมัยอุปนิษัท
เป็นสมัยแห่งความพยายามคิดค้นเพื่อแสวงหาทางหลุดพ้นจากภาวะเวียนว่ายตายเกิด มีเจ้าลัทธิที่มีความเชื่อแตกต่างกันเกิดขึ้น 4 พวก คือ
(1) พวกที่เชื่อผลแห่งญาณคือความรู้แจ้ง
(2)
พวกที่เชื่อผลของการทำพิธีพลี บูชายัญ
(3)
พวกที่เชื่อผลของการบำเพ็ญตบะทรมานกายและจิต, และ
(4)
พวกที่เชื่อว่าสิ่งที่เป็นรูปธรรมทั้งปวงคืออุปสรรคสกัดกั้นมิให้จิตเข้าถึงจุดหมายซึ่งเป็นนามธรรม และเชื่อว่าการที่จะหลุดพ้นจากภาวะการเวียนว่ายตายเกิดนั้น ต้องปฏิบัติด้วยตนเอง
สมัยนี้พราหมณ์ได้สร้างคัมภีร์อุปนิษัทว่าด้วยลัทธิปรมาตมันและหลักโมกษะขึ้น คัมภีร์อุปนิษัทที่เกิดขึ้นในสมัยนี้ ได้ใช้เป็นตำราเรียนภาคสุดท้ายสำหรับนักบวชพราหมณ์ต่อจากพระเวท คัมภีร์"อุปนิษัท"จึงมีชื่อเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า "เวทานตะ" (แปลว่าที่สุดแห่งพระเวท)
สำหรับปรัชญาธรรมคำสอนในคัมภีร์อุปนิษัทนี้มีว่า ความจริงแท้หรือความจริงอันสูงสุดที่เรียกว่า อันติมสัจจะของโลกและจักรวาลนั้นมีสิ่งเดียวคือ พรหมัน หรือ ปรมาตมัน ซึ่ง ปรมาตมันนั้นคือ วิญญาณสากล อันเป็นศูนย์รวมของวิญญาณย่อยทั้งหลายที่เรียกว่า อาตมัน หรือ ชีวาตมัน ในโลกนี้ วิญญาณสากลคือปรมาตมันนี้เป็นความจริงแท้ เป็นความจริงอันสูงสุด ไม่มีเพศ ไม่มีตัวตน มีอยู่ในทุกสิ่งทุกอย่าง มีอยู่ในทุกหนทุกแห่ง เป็นอมตภาพ วิญญาณที่ไม่มีวันดับสลาย ไม่มีเบื้องต้นและไม่มีเบื้องปลาย จึงไม่มีที่สิ้นสุดเป็นอยู่ชั่วนิรันดร เป็นที่เกิด เป็นที่รักษาและเป็นที่กลับมารวมอยู่ของสรรพวิญญาณทั้งหลายในสากลโลกนี้
ดังนั้น ปรัชญาธรรมในคัมภีร์อุปนิษัทนี้จึงเน้นหนักอยู่ที่การศึกษาและการปฏิบัติต่อตนเองให้รู้จักและเข้าใจ ให้เห็นตัวเอง หรืออาตมันนั้นอย่างถ่องแท้ ให้รู้เห็นอย่างชัดเจนว่า อาตมันคือ ตัวตนนั้นก็คือพรหมัน เป็นอันหนึ่งอันเดียวกับพรหมัน แล้วต้องพาวิญญาณคืออาตมันนั้นเข้าภาวะแห่งพรหมันหรือโมกษะนั้นให้ได้ในที่สุด
ปลายยุคนี้พราหมณ์ชื่อ "ฤาษีวาลมิกิ" ได้ร้อยกรองวรรณกรรมเรื่องรามายณะ และพราหมณ์ชื่อ "ฤาษีกฤษณะไทวปายนะ" นิพนณ์วรรณกรรมเรื่องภารตะขึ้น ซึ่งภายหลังพระรามและพระกฤษณะตัวเอกของวรรณกรรมทั้งสองเรื่องนี้ได้เข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้องอย่างสำคัญในลัทธิศาสนานี้ด้วย
สมัยสูตร
ในสมัยนี้วรรณกรรมเรื่องภารตะได้รับการแต่งต่อเพิ่มเติมจนกลายเป็น "มหาภารตะ" และพราหมณ์ได้จัดทำตำราเรียนสำหรับกุลบุตรพราหมณ์ใช้ศึกษาในโรงเรียนขึ้น ตำราดังกล่าวเป็นบทสรุป (สุตตะหรือสูตร) ของพระเวททั้งหมด เรียกว่า "เวทางค์" แปลว่าองค์แห่งพระเวท จำแนกออกเป็น 6 สาขาวิชา คือ ศึกษาศาสตร์ (ว่าด้วยการออกเสียง) กัลปศาสตร์ (ว่าด้วยพิธีกรรมและขนบธรรมเนียมประเพณี) ไวยากรณศาสตร์ (ว่าด้วยหลักภาษา การแปลและตีความ) นิรุกติศาสตร์ (ว่าด้วยที่มาและความหมายของศัพท์ที่ใช้ในพระเวท) ฉันทศาสตร์ (ว่าด้วยการประพันธ์บทร้อยกรอง โศลกและฉันท์) และโชยติสศาสตร์ (ว่าด้วยดาราศาสตร์และโหราศาสตร์)
สมัยอวตาร
เป็นสมัยที่เกิดเหตุการณ์จลาจลในอินเดียต่อเนื่องกันเป็นเวลานาน สาเหตุเนื่องมาจากการชิงอำนาจกันเองภายในประเทศ และถูกศัตรูจากภายนอกประเทศรุกรานผลัดเปลี่ยนกันเข้าครองอินเดีย หากพวกใดได้เป็นใหญ่ก็จะฟื้นฟูศาสนาที่ตนนับถือขึ้นมาในสมัยของตน ศาสนาฮินดูเองก็แตกแยกออกเป็นนิกายต่างๆมากมาย สภาพการณ์ดังกล่าวทำให้ศาสนาฮินดูเสื่อมโทรมลงมาก พราหมณาจารย์จึงปรับปรุงลัทธิศาสนาของตนเสียใหม่ให้ทันสมัยยิ่งขึ้น สิ่งที่ปรับปรุงในสมัยนี้ที่นับว่าสำคัญ ได้แก่
1. เกี่ยวกับเทพเจ้า พราหมณ์ได้สร้างเรื่องอวตาร ซึ่งหมายถึงการแบ่งภาคมาเกิดของ เทพเจ้าสูงสุดแห่งลัทธิศาสนาฮินดู เพื่อรวมเทพเจ้าที่เกิดขึ้นใหม่หลายองค์มาขึ้นกับพรหมซึ่งเป็นเทพสูงสุดของพราหมณ์
2. เกี่ยวกับปรัชญาชีวิต สมัยนี้มีนักคิดเจ้าลัทธิให้กำเนิดปรัชญาสำคัญๆ 6 ลัทธิ พราหมณ์ได้รับปรัชญาทั้งหกนี้เข้ามาไว้ในศาสนาของตนเรียกว่า "ษัททรรศนะ" "ศาสตร์ทั้งหก" "ทรรศนะหก" หรือ "ปรัชญาหก"
3. มีการเพิ่มเติม ปรับปรุงเปลี่ยนแปลงและรวบรวมกฎวินัย (เรียกว่า "ธรรม") สำหรับบุคคลแต่ละวรรณะประพฤติปฏิบัติลงเป็นลายลักษณ์อักษร ทำให้เกิดคัมภีร์ซึ่งต่อมาถือกันว่าเป็นต้นกำเนิดของกฎหมายโลก เรียกว่า "มนูธรรมศาสตร์"
4. มีการร้อยกรองวรรณกรรมเรื่องรามายณะและมหาภารตะเพิ่มเติม โดยเฉพาะส่วนที่เพิ่มเติมในเรื่องมหาภารตะ สมัยนี้เป็นต้นกำเนิดของคัมภีร์สำคัญอีกฉบับหนึ่งคือ "คัมภีร์ภควัทคีตา" แปลว่าบทเพลงของพระเจ้าผู้ควรบูชา (คือพระกฤษณะ) สาระสำคัญของ ภควัทคีตา ได้แก่ ธรรมปฏิบัติที่จะช่วยให้ผู้ครองเรือนสามารถบรรลุความดีสูงสุดได้โดยมิต้องออกบวช (สอนให้ประกอบแต่ความดีและละทิ้งความปรารถนาอันเป็นต้นเหตุให้เกิดกรรม) อย่างไรก็ตาม วรรณกรรมทั้งสองเรื่องนี้ในที่สุดก็ได้กลายเป็นคัมภีร์ทั้งคู่ รวมเรียกว่า "คัมภีร์อิติหาส" หมายถึง เรื่องราวของวีรบุรุษ
สมัยเสื่อม
สมัยนี้ได้ชื่อว่าเป็นยุคเสื่อมของศาสนาฮินดูเพราะ เป็นสมัยที่ลัทธิศาสนาฮินดูแตกแยกเป็นนิกายต่างๆมากมาย แต่ละนิกายมีข้อปฏิบัติเสื่อมทรามลงกว่าเดิมมาก โดยเฉพาะนิกายใหญ่ที่สำคัญ 2 นิกาย คือ นิกายที่นับถือพระศิวะเป็นใหญ่เรียกว่า "ไศวะนิกาย" กับนิกายที่นับถือพระวิษณุเป็นใหญ่เรียกว่า "นิกายไวษณพ" ต่างสร้างประวัติยกย่องเทพเจ้าฝ่ายตนเลิศเลอและดูหมิ่นเหยียดหยามเทพเจ้าของอีกฝ่ายหนึ่ง และนับเป็นสมัยเสื่อมแห่งพระพรหม
แต่ท่ามกลางความเสื่อมเหล่านั้น ได้มีสิ่งสำคัญเกิดขึ้น นั่นคือ กำเนิดเครื่องหมายอันเป็นสัญลักษณ์ของศาสนานี้ ซึ่งมีที่มาจากกำเนิดของตรีมูรติ คือ เทพสูงสุดทั้งสาม เครื่องหมาย ดังกล่าวได้แก่อักษรเทวนาครีซึ่งมีคำอ่านว่า "โอม" และมีวรรณกรรมที่เกี่ยวกับศาสนาฮินดูเล่มหนึ่งซึ่งนับว่ามีความสำคัญมากได้แก่วรรณกรรมชื่อ "ปุราณะ"
สมัยฟื้นฟู
ที่เรียกสมัยนี้ว่าสมัยฟื้นฟูเพราะเป็นสมัยที่พุทธศาสนาซึ่งเป็นคู่แข่งสำคัญของศาสนาฮินดูเริ่มเสื่อมสูญจากอินเดีย แต่ศาสนาฮินดูกลับได้รับการอุปถัมภ์ บรรดาเจ้าลัทธิทั้งหลายในศาสนาฮินดูพยายามทุกวิถีทางที่จะสร้างความมั่นคงถาวรและเผยแผ่ลัทธิศาสนาของตนออกไปให้ แพร่หลายมากที่สุด โดยเฉพาะในหมู่คนพื้นเมืองเดิม พร้อมกับพยายามกีดกันศาสนาพุทธและศาสนาเชนไม่ให้มีโอกาสกลับมาเป็นคู่แข่งได้อีก
การปรับปรุงและความเปลี่ยนแปลงสำคัญของศาสนาฮินดูที่เกิดขึ้นในสมัยนี้ คือ
- มีการปรับปรุงแก้ไขคัมภีร์เก่าให้ชัดเจนเหมาะสมทันสมัยและสมเหตุสมผลยิ่งขึ้น
- มีการแต่งกวีบทสวดอ้อนวอนด้วยคำประพันธ์ (ฉันท์หรือกาพย์) อันไพเราะเป็นภาษาทมิฬ (ภาษาของคนพื้นเมืองเดิม) ออกทำการเผยแผ่ลัทธิของตนแก่มหาชนอย่างกว้างขวาง
- มีการกำเนิดลัทธิความเชื่อใหม่ 2 ลัทธิ ได้แก่ ลัทธิศักติ คือ การบูชาเทพเจ้า ฝ่ายหญิงที่เป็นชายาของเทพเจ้าที่นับถือสูงสุด เช่น พระอุมาเทวีชายาพระศิวะ พระลักษมีเทวีชายาพระวิษณุ และพระสุรัสวดีชายาพระพรหม และลัทธิภักติ หรือการบูชาพระภควานหรือพระผู้ควรบูชา ความภักดีนี้จะแสดงต่อเทพเจ้าองค์ใดที่ตนนับถือก็ได้
- มีการก่อสร้างเทวสถานใหญ่โต ประดับประดาอย่างวิจิตร เกิดขึ้นตามนครใหญ่ๆทั่วไป มีการนำเทวรูปออกแห่แหนด้วยกระบวนการแห่ซึ่งเริ่มนิยมกระทำกันในสมัยนี้
- เกิดลัทธิค่านิยมยกย่องหญิงหม้ายที่ยอมเผาตัวตายพร้อมศพสามีว่าเป็นผู้กล้าหาญและเป็นหญิงที่ประเสริฐเกิดขึ้นอีกด้วย หญิงที่ยอมเผาตัวตายพร้อมพิธีศพสามีนี้เรียกว่า "สตี" (แปลว่าดี) ค่านิยมดังกล่าวเป็นต้นกำเนิดของประเพณีเผาตัวตายตามสามีที่เรียกว่า "พิธีสตี"
สมัยภักติ
ลัทธิภักติได้เจริญขึ้นในอินเดียภาคเหนือ และแบ่งนิกายที่สำคัญออกได้เป็น 3 นิกายตามความแตกต่างของเทพเจ้าสูงสุดที่นิยมนับถือกัน คือ
นิกายที่ 1 นับถือพระราม
นิกายที่ 2 นับถือพระกฤษณะ และ
นิกายที่ 3 นับถือพระราม แต่ปฏิเสธเรื่องพระรามคืออวตารของพระวิษณุ การบูชารูปเคารพและการแบ่งชั้นวรรณะ
ลัทธิภักติเผยแผ่ลัทธิด้วยภาษาพื้นเมือง และยกย่องอาจารย์ผู้สอนลัทธิว่าเป็นผู้ควรแก่ การเคารพอย่างสูงเรียกว่า "คุรุ" พิธีกรรมในลัทธิมีการสวดมนต์ภาวนา เสกเป่าและกินข้าวเสก มี นักบวชและคฤหัสถ์ประจำลัทธิ อย่างไรก็ตาม แม้ทั้ง 3 นิกายจะนับถือพระเจ้าต่างองค์กัน แต่ก็มีหลักการที่ตรงกัน คือ มีพระเจ้าสูงสุดเพียงองค์เดียว พระเจ้าทรงประทานความเมตตากรุณาแก่ ผู้ภักดีและบูชาพระองค์ เชื่อว่าวิญญาณมนุษย์เป็นส่วนที่แยกมาจากพระเจ้า เป็นสิ่งอมตะ ผู้ภักดีต่อพระเจ้าไม่ว่าจะอยู่ในวรรณะใด ย่อมได้รับความหลุดพ้น
อย่างไรก็ตาม เมื่อกาลเวลาผ่านไป จำนวนของผู้ที่ปฏิเสธคำสอนในคัมภีร์พระเวทได้มีจำนวนเพิ่มมากขึ้น ยกตัวอย่างเช่น การเกิดขึ้นของศาสนาเชนและศาสนาพุทธ ขณะเดียวกัน หลักปรัชญาของอินเดียยังได้มีวิวัฒนาการเปลี่ยนแปลงจากจุดกำเนิด จนเกิดแนวความคิดหรือลัทธิที่แตกต่างกันออกไปอีกหลายลัทธิ ประกอบด้วย นยายะ, ไวเศษิกะ, สางขยะ, โยคะ, มีมางสา และเวทานตะ ลัทธิครูทั้งหกนี้ล้วนเป็นส่วนหนึ่งในการก่อรูปความคิดและจิตใจ ซึ่งส่งผลต่อพฤติกรรมการสื่อสารของชาวอินเดีย ลัทธิครูทั้งหกนี้ต่างเป็นลัทธิปรัชญาฝ่ายอาสติกะ คือ กลุ่มที่เชื่อในความศักดิ์สิทธิ์ในคัมภีร์พระเวท ลักษณะแนวคิดคำสอนของลัทธิเหล่านี้จึงยึดคัมภีร์พระเวทเป็นหลัก รายละเอียดดังนี้คือ
ลัทธินยายะ
"
นยายะ" แปลว่าการโต้แย้ง ความหมายดังกล่าวบ่งชี้ว่า ลัทธินี้เป็นระบบปรัชญาที่ เน้นหนักไปในทางส่งเสริมสติปัญญา และเนื่องจากลัทธินี้เน้นหนักในเรื่องการใช้สติปัญญา วิเคราะห์ และการโต้แย้งเชิงตรรกะ จึงมีชื่อเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า "ตรรกศาสตร์" โดยปรมาจารย์ ผู้ก่อตั้งลัทธินี้มีชื่อว่า "โคตมะ" มีตำราหรือคัมภีร์ที่บรรจุคำสอนชื่อว่า "นยายะสูตร"
สำหรับหลักคำสอนที่สำคัญของลัทธินี้ คือ "ชีวิตในโลกนี้เต็มไปด้วยความทุกข์ การเวียนว่ายตายเกิดเป็นการติดข้อง การหลุดพ้นจากทุกข์และการเวียนว่ายตายเกิดเป็นโมกษะ" การติดข้องหรือการเวียนว่ายตายเกิดนั้นเป็นเพราะอวิทยา ดังนั้นวิธีการทำลายการเวียนว่ายตายเกิดหรือการติดข้องจะต้องใช้วิทยา อันได้แก่ ความรู้แจ้งเกี่ยวกับความจริง เป็นเครื่องทำลาย อวิทยาอันเป็นสาเหตุแห่งความทุกข์นั้นเสีย ชีวิตจึงจะหลุดพ้นจากทุกข์ และบรรลุภาวะแห่งโมกษะได้
ลัทธิไวเศษิกะ
ไวเศษิกะมีรากศัพท์มาจากภาษาสันสกฤตว่า "วิเศษะ" ที่แผลงมาเป็นไทยว่า "พิเศษ" ผู้ก่อตั้งสำนักนี้มีชื่อว่า "กนาทะ" มีตำราหรือคัมภีร์ที่บรรจุคำสอนและปรัชญาของลัทธินี้คือ "ไวเศษิกะสูตร"
หลักคำสอนที่สำคัญของลัทธินี้มีความคล้ายคลึงกับลัทธินยายะที่ถือว่า การเกิดขึ้นหรือการเคลื่อนไหวเป็นไปของชีวิตนี้เป็นทุกข์ การติดข้องหรือการเวียนว่ายตายเกิดนั้นเป็นทุกข์ร่ำไป เป้าหมายสูงสุดของชีวิตจึงอยู่ที่การหลุดพ้นจากทุกข์ วิธีการปฏิบัติเพื่อหลุดพ้นจากทุกข์นั้น จะต้องหยุดทำกรรม หยุดสร้างบุญบาป วิญญาณก็จะหมดพันธะ เมื่อวิญญาณหมดพันธะก็จะบริสุทธิ์ได้เอง และถึงโมกษะได้
ลัทธิสางขยะ
คำว่า "สางขยะ" ในภาษาสันสกฤตแปลว่า "การนับหรือจำนวน" ในภาษาบาลีตรงกับ คำว่า "สังขยา" มีความหมายเช่นเดียวกัน คือ การนับ จำนวน ผู้ก่อตั้งลัทธิคือ "กปิลดาบส"
หลักปรัชญาธรรมคำสอนของลัทธินี้ ได้แก่
1. สางขยะสอนว่า ชีวิตประกอบด้วยส่วนสำคัญ 2 ส่วน คือ ปุรุษะ ได้แก่ ตัวตนที่แท้จริง คือจิต หรือวิญญาณบริสุทธิ์เทียบเท่าได้กับชีวาตมันของปรัชญาอินเดีย และ ประกฤติ ได้แก่ ดิน น้ำ ลม ไฟ อากาศ บางตำราเรียกว่า "ธรรมชาติ" ธรรมชาตินั้นคือต้นกำเนิดสรรพสิ่งของตัวมันเอง มิได้เกิดจากสิ่งใด เป็นสิ่งที่เกิดเองและมีอยู่เอง สิ่งต่างๆทั้งหลายในโลกเรานั้นล้วนแต่มีประกฤติอยู่ก่อนแล้วจึงทำให้เกิดภาวะที่เรียกว่า "การเกิด" ขึ้น ส่วนการดับนั้นเป็นภาวะที่สิ่งทั้งหลาย ทั้งปวงกลับไปสู่ประกฤติตามเดิม
2. สางขยะถือว่า ทั้งสองอย่างเป็นอิสระไม่ขึ้นต่อกัน ทั้งสองสิ่งนั้นเป็นความจริงอันติมะ คือ เป็นความจริงอันสูงสุด เป็นสิ่งแท้จริง ดำรงอยู่ได้โดยลำพังตนเอง ดำรงอยู่เหนือความ เปลี่ยนแปลงทุกอย่าง เป็นนิรันดร
3. จุดมุ่งหมายสูงสุดของลัทธินี้คือ การหลุดพ้นจากทุกข์ โดยการสร้างปัญญาให้เกิดขึ้น เพื่อใช้เป็นเครื่องทำลายอวิชชา หรือ "อวิทยา" อันเป็นสาเหตุแห่งความทุกข์ และปุรุษะก็จะ หลุดพ้นจากเครื่องผูกพันคือทุกข์ และเข้าสู่โมกษะได้
ลัทธิโยคะ
ผู้ก่อตั้งลัทธินี้มีชื่อว่า "ปตัญชลี" คัมภีร์หรือตำราทางวิชาการที่บรรจุคำสอนของลัทธินี้มีชื่อว่า "โยคะสูตร" ความหมายของคำว่า "โยคะ" ตามทัศนะของผู้ก่อตั้งลัทธินี้หมายถึง "วิธีการบำเพ็ญเพียรโดยควบคุมอินทรีย์ (ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ) ปลดเปลื้องร่างกายและจิตจาก ความเศร้าหมองทั้งมวล"
ลัทธิโยคะสอนว่า เป้าหมายทางสุดท้ายของชีวิต คือ ภาวะแห่งการบรรลุโมกษะ หรือการที่ชีวาตมันไปรวมเข้าเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันกับปรมาตมัน และบุคคลจะบรรลุโมกษะได้ด้วยการปฏิบัติตามหลักแห่งโยคะ โดยเน้นที่การปฏิบัติ อันได้แก่ การกระทำ ทำ และความภักดี
ลัทธิมีมางสา
ปรมาจารย์ของลัทธินี้มีชื่อว่า "ไชมินิ" ตำราหรือคัมภีร์ที่บรรจุคำสอนของลัทธินี้มีชื่อว่า "มีมางสาสูตร" คำว่า "มีมางสา" นี้หมายถึง การพิจารณาสอบสวนพระเวทในตอนต้น อันได้แก่ พระเวท ตอนมันตระและพราหมณะ
หลักธรรมคำสอนที่เป็นปรัชญาสำคัญของลัทธิมีมางสา คือ การถือว่าการทำหน้าที่ ที่ถูกต้องเรียกว่า "ธรรม" ถ้าปราศจากการทำหน้าที่ให้สมบูรณ์ ปัญญา ความสุข และความสำเร็จแห่งชีวิตจะไม่เกิดขึ้นได้เลย
ลัทธิเวทานตะ
"
เวทานตะ" แปลว่า ที่สุดของพระเวทหรือสุดท้ายของพระเวท คำว่า "เวทานตะ" มาจากคำสองคำรวมกัน คือคำว่า เวท+อันตะ เวทะ แปลว่า ความรู้ ความฉลาด ส่วนคำว่าอันตะ แปลว่าที่สุดหรือสุดท้าย เมื่อรวมกันเป็นเวทานตะ จึงมีความหมายตามรูปศัพท์ว่า "ความรู้อันสูงสุด หรือความรู้อันสุดท้าย" หรือคัมภีร์อุปนิษัทนั่นเอง
ผู้ก่อตั้งลัทธินี้มีชื่อว่า "เวทานตะ" หรือ "พาทรายณ์" โดยมีหลักปรัชญาธรรมที่สำคัญ คือ
1. ความจริงแท้ของโลกและจักรวาลคือพรหมัน
2.
สรรพสิ่งทั้งหลายมาจากพรหมัน เมื่อดับก็จะกลับไปสู่พรหมัน
3.
ความรู้ที่ถูกต้องแท้จริงต้องเป็นความรู้เกี่ยวกับพรหมันและอาตมัน
4.
การเข้าถึงพรหมันนั้นเรียกว่าการบรรลุโมกษะ
5.
การที่จะเข้าถึงภาวะแห่งโมกษะได้นั้น จะต้องปฏิบัติตามหลักแห่งโยคะ อันประกอบด้วยอัษฎางคโยคะ 8 ประการ
หลักแปดประการของภาพนำทาง
ภาพนำทางของวัฒนธรรมอินเดียนั้นประกอบด้วยหลัก 8 ประการที่เน้นความสำคัญ เรียงตามลำดับกันดังนี้
1. idealism
2. renunciation and nonattachment
3. oneness of things
4. illusions
5. liberation
6. nonindividuality
7. transtemporality
8. intuition
idealism
ทัศนคติต่อชีวิตของชาวอินเดียส่วนใหญ่แล้วนั้น ถูกกำหนดด้วยอุดมคติซึ่งมีรากฐานทางประวัติศาสตร์มาจากคัมภีร์อุปนิษัท คำว่า "อุดมคติ" ในที่นี้หมายความถึง หลักปรัชญาซึ่งให้ น้ำหนักต่อคุณค่าทางจิตใจในการชี้นำทางในการดำเนินชีวิต
อุดมคติในศาสนาพราหมณ์-ฮินดูที่เป็นแนวบรรทัดฐานกำหนดวิถีการดำเนินชีวิตที่มนุษย์ต้องดำเนินตามเพื่อประโยชน์สูงสุด นอกเหนือจากหลักปรมาตมันและหลักโมกษะแล้ว ยังได้แก่
หลักอาศรมสี่ ซึ่งหมายถึง "ขั้นตอนหรือช่วงระยะเวลาของชีวิต" หรือแปลว่า "กระท่อมของนักบวช" หลักอาศรมสี่นี้ประกอบด้วย
(1)พรหมจรรย์ การประพฤติอย่างพรหมหรือการปฏิบัติตนให้อยู่ในความบริสุทธิ์
(2)
คฤหัสถ์ หลักสำหรับผู้ครองเรือนในการทำงานเพื่อสร้างหลักฐาน ฐานะ และการทำพลีต่างๆ
(3)
วนปรัสถ์ หลักสำหรับผู้อยู่ป่า ซึ่งต้องวางมือจาก การครองเรือน ออกปฏิบัติธรรม หรือทำตนให้เป็นประโยชน์ต่อสังคม และ
(4)
สันยาสะ หลักสำหรับผู้แสวงหาธรรมหรือขั้นตอนสุดท้ายของชีวิต บุคคลจะต้องถือเพศบรรพชิต ประพฤติพรหมจรรย์
หลักอรรถะหรือประโยชน์สี่ ได้แก่
อรรถะ หมายถึง ทรัพย์หรือสิ่งที่เราต้องการแล้วพยายามทำให้ถึงหรือมีให้ได้
กามะ หมายถึง การแสวงหาความสุขทางโลกตามสมควร
ธรรมะ หมายถึง หลักศีลธรรมหรือระเบียบความประพฤติของบุคคลในสังคมเพื่อสันติสุข และ
โมกษะ หมายถึง ภาวะแห่งความหลุดพ้น
หลักวรรณะสี่ เช่น กฎเรื่องการแต่งงาน (เช่น การห้ามแต่งงานข้ามวรรณะ) กฎเรื่องอาหารการกิน (ใครทำอาหารให้ใครทานได้) กฎเรื่องการทำมาหากิน (แต่ละวรรณะมีหน้าที่ของตนเอง ห้ามก้าวก่าย) กฎเรื่องบ้านเรือนที่อยู่อาศัย (ห้ามศูตร/จัณฑาลมีคฤหาสหรือปราสาท) เป็นต้น
renunciation and nonattachment
ความเชื่อในเรื่องการสละ/การละวางหรือการไม่ยึดติดนั้น เป็นอุดมคติของวัฒนธรรม ชาวอินเดียอย่างแท้จริง ขณะเดียวกัน ชาวอินเดียยังมีความเชื่ออีกด้วยว่า หากจะวัด ความยิ่งใหญ่ของมนุษย์ผู้หนึ่งนั้น มิได้วัดด้วยสิ่งที่เขาได้มาหรือหามาได้ หากแต่วัดจากสิ่งที่เขาได้สละหรือละทิ้งไป
ความเชื่อดังกล่าวได้รับการยืนยันด้วยเหตุผลมานานนับศตวรรษว่า ความปรารถนานั้นนำไปสู่ความสับสนวุ่นวาย ดังนั้น นักปรัชญาชาวอินเดียส่วนใหญ่จึงค้นหาหนทางในการขจัดความปรารถนาด้วยการยกระดับความไม่ยึดติดในสิ่งใดๆ และด้วยเหตุดังนั้น ในหลักปรัชญาธรรมและหลักศาสนาของชาวอินเดียเราจึงได้พบคำดังเช่น การเสียสละ/การอุทิศตน การทำบุญทำทาน การบำเพ็ญตบะ และการละวางอยู่เสมอๆ
oneness of things
องค์ประกอบที่สำคัญอีกประการหนึ่งในภาพนำทางของชาวอินเดีย ได้แก่ ความเชื่อในเรื่องของความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันของสรรพสิ่งต่างๆ โดยหลักสำคัญนั้นอยู่ที่การสร้าง ความเป็นหนึ่งเดียวของความเป็นจริง และชี้ให้เห็นถึงกลไกซึ่งปัจเจกบุคคลจะสามารถตระหนักรู้ถึงสิ่งนั้นได้
ในศาสนาฮินดูนั้น อุดมคติสูงสุดที่บุคคลต่างดิ้นรนจะไปให้ถึงนั่นคือ "ปรมาตมัน" ปรมาตมันนี้ไม่ใช่ทั้งสิ่งมีชีวิตและสิ่งไม่มีชีวิต แต่เป็นสภาวะซึ่งการแบ่งแยกหรือความแตกต่างนั้นถูกทำให้หมดไปและความเป็นหนึ่งเดียวเข้ามาแทนที่
"ปรมาตมัน" เป็นคำสอนสำคัญที่เน้นหนักอยู่ในคัมภีร์อุปนิษัท ปรมาตมันคือวิญญาณสากลหรือเป็นความจริงอันสูงสุด ที่เรียกว่าอันติมะสัจจะ บางทีก็เรียกว่า "พรหมัน" ปรมาตมันนั้นเป็นศูนย์รวมของวิญญาณย่อยทั้งหลายที่เรียกกันว่าอาตมันหรือชีวาตมัน ดังนั้น คัมภีร์อุปนิษัทจึงสอนว่า อาตมันก็คือพรหมัน ผู้ที่รู้จักและเข้าใจอาตมันจึงเท่ากับรู้จักและเข้าใจพรหมัน ผู้ที่รู้จักพรหมันผู้นั้นจะเข้าถึงโมกษะ คือ ภาวะแห่งความหลุดพ้น คืออยู่ร่วมกับพรหมันหรือปรมาตมัน อันเป็นวิญญาณสากลได้
ทัศนะของชาวอินเดียหรือพราหมณ์-ฮินดูนั้นมีความเชื่อว่า อาตมันหรือชีวาตมัน คือ ตัวตนของเรานี้ประกอบด้วยส่วนสำคัญ 2 ส่วนด้วยกัน คือ ส่วนแห่งร่างกายคือตัวตนอย่างหยาบ และส่วนแห่งจิตวิญญาณคือตัวตนอย่างสมบูรณ์
ในส่วนแห่งร่างกายนั้นถือว่าเป็นส่วนที่หยาบ ไม่ใช่ตัวตนที่แท้จริง เพราะมีการแตกสลายไปตามกาลเวลา แต่ในส่วนแห่งจิตวิญญาณอันเป็นส่วนละเอียดนั้นเป็นอาตมัน หรือเป็นตัวตนที่แท้จริง เพราะจิตวิญญาณนั้นจะไม่มีวันตายหรือแตกสลายไปเช่นส่วนแห่งร่างกาย เพราะว่าวิญญาณของสรรพสิ่งแต่ละดวงนั้น เป็นอาตมันย่อยที่แยกออกจากอาตมันใหญ่ ซึ่งเป็นวิญญาณสากลที่เรียกว่า "ปรมาตมัน" ดังนั้น เมื่อปรมาตมันหรือวิญญาณสากลเป็นอมตะ อาตมันหรือ ชีวาตมัน ซึ่งเป็นวิญญาณย่อย เป็นตัวตนย่อยนั้นจึงเป็นอมตะด้วย
อย่างไรก็ตาม ระหว่างอาตมันและปรมาตมันนั้น มีความแตกต่างกันตรงที่ว่า ปรมาตมัน ไม่ได้ถูกจำกัดหรือผูกพันอยู่กับสิ่งใด เป็นอมตะภาวะ เป็นอยู่ด้วยตัวเอง ไม่มีการเกิดและไม่มี การตาย แต่สำหรับชีวาตมันหรืออาตมันนั้นจะถูกจำกัดด้วยร่างกายที่มีการแตกดับ จึงได้รับ ความทุกข์ยากลำบากต่างๆจากการเวียนว่ายตายเกิดของร่างกายไปในภพชาติใหญ่น้อยต่างๆอย่างไม่มีวันจบสิ้น จนกว่าบุคคลนั้นจะฝึกฝนตนเองให้รู้แจ้งเห็นจริงในอาตมันของตนเอง ว่าเป็นอันเดียวกันกับปรมาตมันหรือพรหมันจึงจะบรรลุโมกษะ หลุดพ้นจากความทุกข์
illusions
ตามความคิดจิตใจของชาวอินเดียซึ่งถูกกำหนดรูปร่างโดยขนบธรรมเนียมโบราณและ วัฒนธรรมนั้น แท้จริงแล้ว โลกของเรานั้นเป็นเพียงภาพมายา อย่างไรก็ตาม ในการใช้คำว่า "มายา" นั้นไม่ได้หมายถึงว่า โลกของเราจะเป็นมายาเสียจนกระทั่งจุดยืนซึ่งใช้สนับสนุนข้อโต้แย้งของเรานั้น จะหมายถึงว่ารูปแบบและโครงสร้างนั้นเป็นมายา เพราะบ่อยครั้งที่เรามักจะนึกกันไปว่า รูปแบบและโครงสร้างในโลกของเรานั้นเป็นความเป็นจริงตามธรรมชาติมากกว่าจะเป็นผลผลิตมาจากจิตใจของเรา มายาหมายถึงความเข้าใจผิดหรือรู้เท่าไม่ถึงการณ์ในการจัดประเภทหรือแนวความคิดในการสร้างความเป็นจริง
ในคัมภีร์คเวตาศวตร อุปนิษัทกล่าวว่า ถ้ามองจากแง่ของชีวาตมัน มายามีชื่อเรียกใหม่ว่า อวิทยา (อวิชชา) ซึ่งแปลว่าความไม่รู้ อวิทยาเป็นสิ่งที่เหมือนม่านปิดบัง ทำให้ชีวาตมันไม่รู้ความเป็นจริงว่า ตนเองกับสิ่งสัมบูรณ์คือพรหมันนั้นเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ความไม่รู้หรืออวิทยานี้เป็นสาเหตุให้ชีวาตมันต้องเวียนว่ายตายเกิด ท่องเที่ยวไปในสังสารวัฏ ขณะที่ท่องเที่ยวอยู่นั้น ก็ได้ทำกรรมดีบ้าง ชั่วบ้าง แล้วได้รับผลของกรรม เป็นความสุขบ้าง ความทุกข์บ้าง หมุนเวียนกันไป เมื่อใดชีวาตมันเห็นแจ้งในความเป็นจริง และขจัดอวิทยาเสียได้แล้ว เมื่อนั้นก็จะบรรลุ ความหลุดพ้นกลับคืนสู่สภาพเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันกับพรหมัน ซึ่งเรียกว่าโมกษะ
liberation
ความหลุดพ้นหรือโมกษะนั้นเป็นสิ่งสำคัญของภาพนำทางของชาวอินเดีย ดังที่ นักปรัชญาชาวอินเดียได้ยืนยันอยู่เสมอว่า จุดมุ่งหมายสูงสุดของชีวิตมนุษย์ก็คือการหลุดพ้นจากเครื่องพันธนาการทางโลก
มนุษย์ทุกคนต่างต้องเผชิญหน้าหรือถูกท้าทายจากความสัมพันธ์ของเขากับวัตถุสิ่งของต่างๆอันเป็นที่รัก หรือกับบุคคลอื่นซึ่งมีความใกล้ชิดสนิทสนม ทุกครั้งที่มนุษย์เรารู้สึกถึง ความท้าทายเหล่านี้ เรากำลังถูกบังคับให้จัดการกับความไร้ความสามารถในการจัดการต่อ สถานการณ์ต่างๆของเราเสียใหม่ ซึ่งก่อให้เกิดปัญหากับตัวเรา หากพิจารณาด้วยทัศนะของ นักปรัชญาชาวอินเดียแล้ว การไร้ความสามารถนี้เองเป็นสิ่งซึ่งสะท้อนกลับจากพันธะหรือ เครื่องผูกมัดต่างๆ (ห่วง/บ่วง) ของเรา
ดังนั้น บุคคลผู้เห็นภัยหรือเห็นความทุกข์ของชีวิตในวัฏฏะสงสาร จึงต้องการให้วิญญาณหรืออาตมันของตนเข้าสู่ภาวะแห่งการหลุดพ้นหรือโมกษะ วิถีทางแห่งการหลุดพ้นคือการปฏิบัติธรรมตามหลักอาศรมสี่ มรรคสี่หรือโยคะสี่ การปฏิบัติตามหลักดังกล่าวนี้จะทำลายมายาหรือ อวิทยาให้หมดสิ้นไป และนำไปสู่การบรรลุโมกษะหรือการหลุดพ้นอันเป็นเป้าหมายหรือ อุดมการณ์สูงสุด
nonindividuality
ความคิดเกี่ยวกับปัจเจกบุคคลในวัฒนธรรมของชาวอินเดียนั้นแตกต่างอย่างชัดเจนจากที่พบในวัฒนธรรมตะวันตก ในอภิปรัชญาของชาวอินเดียนั้นมิได้ยอมรับในความหลากหลายของความเป็นปัจเจกบุคคล การคิดถึงปัจเจกบุคคลเป็นการพ่ายแพ้ต่อ "มายา" ความจริงแท้สูงสุดหรือปรมาตมันนั้นไม่มีความแตกต่างและเป็นสิ่งเดียวที่แน่นอน ดังได้กล่าวมาแล้วในข้างต้นว่าอุดมคติสูงสุดของศาสนาฮินดูนั้นคือการรวมกันเป็นหนึ่งเดียว เพราะฉะนั้น ในความคิดของชาวอินเดียจึงไม่มีที่ว่างหลงเหลืออยู่สำหรับการคิดถึงปัจเจกบุคคลในลักษณะแยกส่วน
transtemporality
สำหรับชาวอินเดียแล้ว "เวลา"นั้นเป็นสิ่งซึ่งมีลักษณะหมุนเป็น"วงรอบหรือสังสารวัฏ" นั่นก็หมายความว่ามีความเชื่อในเรื่องของการหวนกลับคืนสู่สภาพของความเป็นนิจนิรันดร์และ ความเป็นอมตะ ในทัศนะของชาวอินเดียแบบดั้งเดิมนั้น มีเพียงหนทางเดียวที่จะหนีพ้นจากความลำบากในการเป็นมนุษย์นั่นคือการหนีให้พ้นจากภาวะที่เป็นอยู่ทางโลก
ความต้องการ หลุดพ้นจากการเวียนว่ายตายเกิดไม่มีที่สิ้นสุดหรือในสังสารวัฏนี้จะต้อง ตระหนักหรือแจ้งชัดในความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันของพรหมัน-วิญญาณสากล และอาตมัน-วิญญาณของตนได้ และเมื่อตระหนักรู้ความจริงเช่นนี้แล้ว บุคคลผู้นั้นก็จะหลุดพ้นจาก ความผูกพันทางโลก และหลุดพ้นจากการเวียนว่ายตายเกิดในสังสารวัฏตลอดกาล
intuition
ในท้ายที่สุด ความสงสัยเกี่ยวกับ"ความรู้แจ้งภายในหรือการหยั่งรู้ภายใน"ก็เป็นสิ่งที่สำคัญ ความปรารถนาที่จะได้รู้อย่างแจ้งชัดต่อภายในของตนนั้น เป็นคุณลักษณะพิเศษของการฝึกจิตใจของชาวอินเดีย ซึ่งแตกต่างโดยสิ้นเชิงกับชาวตะวันตก ในขณะที่สังคมตะวันตกนั้นต้องการจะเอาชนะธรรมชาติและประสบความสำเร็จในการประดิษฐ์เทคโนโลยี แต่สำหรับชาวอินเดียนั้น ไม่ได้ต้องการอะไรที่มากไปกว่าการได้เอาชนะจิตใจของตนเอง
ความปรารถนาที่จะได้รู้แจ้งหรือการหยั่งรู้นั้นมีความสัมพันธ์เชื่อมโยงกัน ความหยั่งรู้ในสิ่งที่เกิดขึ้นทำให้มนุษย์สามารถที่จะเข้าใจความเป็นจริงได้โดยตรง ในขณะที่สังคมตะวันตกจะเน้นในเรื่องของเหตุผลและตรรกะ สังคมอินเดียจะเน้นในเรื่องของความสามารถด้านการหยั่งรู้ของมนุษย์ เพราะพวกเขาต่างรู้สึกว่า "ภาษา"ของมนุษย์นั้นไม่เพียงพอสำหรับการจะเข้าใจความเป็นจริง อีกทั้ง"ตรรกะ"ของมนุษย์ก็ไม่เพียงพอสำหรับจะเข้าใจความเป็นจริงที่อยู่เหนือธรรมชาติได้ ดังที่คัมภีร์อุปนิษัทได้กล่าวไว้ว่า "จะเข้าใจปรมาตมันได้ก็จะต้องเป็นปรมาตมัน" หรือในทางอีกทางหนึ่งนั้นก็คือการที่จะเข้าใจความเป็นจริงสูงสุดได้นั้น เราก็จะต้องเป็นความเป็นจริงสูงสุดนั้น เสียเอง
การประยุกต์ใช้กับทฤษฎีด้านการสื่อสารของอินเดีย
ภาพนำทางในวัฒนธรรมอินเดียนี้สามารถนำมาประยุกต์ใช้เพื่อสร้างแบบจำลองด้านการสื่อสารได้เป็นอย่างดี โดยเฉพาะในปริบททางสังคมของชาวอินเดีย ซึ่งก็จะมีเนื้อหาสาระที่แตกต่างไปจากแบบจำลองการสื่อสารในวัฒนธรรมตะวันตก
ในแบบจำลองการสื่อสารของอินเดียนั้น ความสนใจในลำดับแรก คือ การที่ผู้รับสารนั้นสร้างความหมาย (make sense) กับสิ่งกระตุ้นซึ่งเขาได้รับ เพื่อที่จะตระหนักรู้ในตนเองให้ลึกซึ้งมากยิ่งขึ้นได้อย่างไร ในขณะที่แบบจำลองการสื่อสารของตะวันตกนั้น ความสนใจในลำดับแรก คือ การที่ผู้ส่งสารจะสามารถมีผลกับ/มีอิทธิพลต่อ/จัดการกับผู้รับสารได้อย่างไร และ ผู้ส่งสารกับผู้รับสารจะร่วมรับรู้ข่าวสารและเข้ามาอยู่ในความสัมพันธ์แบบสองทางได้อย่างไร
ความแตกต่างระหว่างชาวอินเดียกับชาวตะวันตกอีกประการหนึ่ง คือ ความคิดเกี่ยวกับเรื่องของ "ความหมาย" ความหมายในสังคมตะวันตกนั้นถูกมองว่าเป็นเพียงสิ่งๆหนึ่งซึ่งถูก ถ่ายทอดหรือมีความหมายผ่านทางภาษา ซึ่งความคิดนี้ก็ผูกติดอยู่กับแบบจำลองทางการสื่อสารตามรูปแบบของตะวันตกนั่นเอง การสื่อสารในรูปแบบนี้ถูกมองว่าเป็นการส่งผ่านความหมายด้วยความตั้งใจที่จะมีอิทธิพลต่อผู้รับสาร แต่ทว่าตามทัศนะของอินเดียนั้น ความหมายอยู่เหนือภาษา อาจกล่าวได้ว่า แบบจำลองของตะวันตกนั้นมีลักษณะศูนย์กลางอยู่ที่ผู้ใช้ภาษา ในขณะที่แบบจำลองของอินเดียนั้นมีลักษณะที่ภาษามีศูนย์กลางอยู่ที่ความหมาย
ความหมายตามทัศนะของชาวอินเดียนั้น ถูกมองว่าเป็นกระบวนการซึ่งจะนำไปสู่ การตระหนักรู้ในตนเอง นำไปสู่ความเป็นอิสระ และนำไปสู่ความจริงในที่สุด ความเป็นอิสระในที่นี้หมายถึง การหลุดพ้นจากพันธนาการทางภาษาซึ่งเป็นผลลัพท์มาจากมายาในโลกนี้และ การประกอบสร้างผลิตกรรมต่างๆโดยการใช้ภาษาและตรรกะต่างๆรอบๆตัวเรา
ประเด็นสำคัญอีกประการหนึ่งที่แตกต่างกัน นั่นก็คือ แบบจำลองของอินเดียนั้นมุ่งความสนใจมายังมิติของการสื่อสารภายในตัวบุคคล ในขณะที่แบบจำลองของตะวันตก การสื่อสารภายในบุคคลจะนำไปสู่การสื่อสารระหว่างบุคคล สำหรับแบบจำลองการสื่อสารของอินเดียนั้น การสื่อสารระหว่างบุคคลเป็นเรื่องรองลงมาจากการสื่อสารภายในตัวบุคคล
อย่างไรก็ตาม การสร้างความคิดเกี่ยวกับการสื่อสารของชาวอินเดียไม่ได้หยุดอยู่เพียงแค่นี้ แต่ได้ขยายความคิดออกไปเพื่อยืนยันให้เห็นว่า หากการสื่อสารทำงานได้ตามบทบาทหน้าที่จริง การสื่อสารภายใน ตัวบุคคลจะต้องนำไปสู่การสื่อสารเพื่อเปลี่ยนผ่านบุคคล ที่ซึ่งความเป็นหนึ่งเดียวของโลกนั้นได้ถูกรับรู้อย่างแจ้งชัด
แบบจำลองการสื่อสารของอินเดียซึ่งเชื่อมโยงกับภาพนำทางในวัฒนธรรมอินเดียนั้นยังมีความแตกต่างกับแบบจำลองในสังคมตะวันตก นั่นคือ ในขณะที่แบบจำลองของตะวันตก จะเน้นหนักในองค์ประกอบที่เกี่ยวกับการแสดงออก แต่แบบจำลองของอินเดียจะเน้นที่องค์ประกอบการรับเข้า หรืออาจกล่าวอย่างง่ายๆได้ว่า แบบจำลองตะวันตกนั้นมีลักษณะ expression-oriented แต่แบบจำลองของอินเดียเป็นแบบ interpretation or reception oriented
ในแบบจำลอง การสื่อสารของอินเดียนั้นจะเห็นว่า สิ่งที่สำคัญในการสื่อสารของมนุษย์คือการค้นหาว่า ผู้รับสารสร้าง/มีความหมายกับสิ่งกระตุ้นเร้าทางวัจนภาษาซึ่งผ่านการรับเข้ามา และผูกรวมเข้ากับ การค้นหาความหมายได้อย่างไร เป็นการค้นหาส่วนที่อยู่ภายในตัวตน ในขณะที่แบบจำลองของตะวันตกยังคงอยู่ที่ว่าความเป็นจริงนั้นอยู่กับมนุษย์ (to know it is to be) หรืออาจกล่าวในอีกทางหนึ่งได้ว่า ไม่มีความแตกต่างระหว่างผู้รู้กับสิ่งที่ถูกรู้
ความแตกต่างทางด้านความคิดนี้นำมาสู่องค์ประกอบที่สำคัญอีกประการหนึ่งใน แบบจำลองนั่นคือ เป็นหน้าที่ของการสื่อสารที่จะหลบหนีให้พ้นจากกรอบความคิดซึ่งถูกสร้างขึ้นมาโดยตรรกะและภาษา เพราะตราบเท่าที่เราอยู่ภายใต้กรอบซึ่งถูกสร้างขึ้นโดยภาษา เราก็จะไม่สามารถมองเห็นความเป็นจริงได้ การละทิ้งผลิตกรรมต่างๆที่ถูกจัดวางโดยภาษานั้นจะทำให้มนุษย์เราเป็นอิสระและตระหนักรู้ความจริงได้
ตามทัศนะของชาวอินเดียนั้น การตระหนักรู้ในความจริงไม่ได้เกิดจากภาษา หรือตรรกะ หรือแม้กระทั่งความมีเหตุมีผล แต่เกิดจากการหยั่งรู้ภายใน (to know is to be) การรู้คือการได้ตระหนักถึงผลิตกรรมต่างๆซึ่งถูกครอบงำโดยภาษาและโดยตรรกะ และมีเพียงกระบวนการหยั่งรู้ ภายในเท่านั้น ที่จะทำให้มนุษย์สามารถยกระดับตัวเองออกจากภาพมายาในโลกได้ ซึ่งในมุมมองของอินเดียแล้ว นี่แหละคือจุดมุ่งหมายของการสื่อสาร
เพราะฉะนั้น หากว่าแบบจำลองของ ตะวันตกจะเป็นแบบการใช้เหตุใช้ผลเป็นหลัก (ratiocination-oriented) แบบจำลองของอินเดียก็เป็นแบบการรับรู้ความรู้สึกที่เกิดขึ้นภายในเป็นหลัก (intuition oriented) (สื่อสารกับตัวเองเพื่อให้หลุดพ้น)
ท้ายที่สุดแล้ว บทความชิ้นนี้ไม่ได้สนใจว่า แบบจำลองการสื่อสารนี้จะสามารถนำไปประยุกต์ใช้ได้ดีเพียงไร หากแต่ความน่าสนใจอยู่ตรงที่ หากชาวอินเดียในปัจจุบัน ใช้ภาพนำทาง ดังกล่าวเป็นหลักเทียบเคียงหรือเป็นตัวกำหนดพฤติกรรมการสื่อสารแล้ว อะไรจะเป็นผลที่ตามมา โดยเฉพาะในยุคที่สังคมอินเดียกำลังได้รับอิทธิพลความทันสมัยของสังคมตะวันตกอย่างมาก เช่นเดียวกันกับในประเทศไทย
หนังสืออ้างอิง
Dissanayake, Wimal. 1987. in Kincaid, D. Lawrence. (ed). Communication theory: Eastern and western perspective. NY: Academic Press, INC., pp. 151-160
มนต์ ทองชัย. 2530. 4 ศาสนาสำคัญของโลกปัจจุบัน พราหมณ์-ฮินดู พุทธ คริสต์และ อิสลาม. กรุงเทพฯ: โอเดียนสโตร์.
วนิดา ขำเขียว. 2541. ศาสนาเปรียบเทียบ. กรุงเทพฯ: เจนเดอร์เพรส.
อารี วิชาชัย. 2543. ปรัชญาธรรมของศาสนาพราหมณ์-ฮินดู. กรุงเทพฯ: มหาวิทยาลัย ศรีนครินทรวิโรฒ.